ขยะมูลฝอย 




         เศษกระดาษ เศษถุงพลาสติก เศษผัก เศษอาหาร ใบไม้ ซากสัตว์ รวมถึงวัตถุอื่นๆ ที่มนุษย์ไม่ต้องการเรียกว่า ขยะมูลฝอย ขยะมูลฝอยเกิดจากกิจกรรมในบ้านเรือน โรงงาน โรงเรียน ตลาด ร้านค้าข้างถนน บริเวณที่มีการก่อสร้าง และทุกแห่งที่มีมนุษย์อยู่ เป็นต้น 

         ในบ้านของเราก็มีขยะมูลฝอย ถ้าเราทิ้งขยะเกลื่อนกลาดไม่เป็นที่เป็นทาง บ้านก็จะสกปรก ขาดความสวยงาม และความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นที่รังเกียจแก่ผู้พบเห็น และยังมีกลิ่นเหม็น ที่ก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้ที่อยู่อาศัย และบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย 

         นอกจากนี้ กองขยะมูลฝอยยังเป็นแหล่งอาหาร แหล่งเพาะพันธุ์ และเป็นที่หลบซ่อนของสัตว์ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ คือ เป็น พาหะนำโรค เช่น หนู แมลงวัน แมลงสาบและยุง ตลอดจนสิ่งมีชีวิตที่มองไม่เห็น คือ เชื้อโรคต่างๆ อีกด้วย

         การทิ้งขยะมูลฝอยให้เป็นที่เป็นทาง คือ ทิ้งขยะมูลฝอยลงในภาชนะ เช่น ถังที่มีฝาปิด ถ้าใช้ถุงพลาสติก เมื่อเต็มแล้ว ต้องผูกปากถุงให้มิดชิด เพื่อป้องกันกลิ่นเหม็น และป้องกันไม่ให้สัตว์คุ้ยเขี่ย ทั้งนี้จะช่วยป้องกันความสกปรก และอันตราย ที่เกิดจากขยะมูลฝอย เช่น เศษแก้วบาดเท้า การเก็บขยะมูลฝอยให้มิดชิด ทำให้บ้านเมืองของเราสะอาดเป็นระเบียบ สวยงามน่าอยู่อาศัย 

         ขยะมูลฝอยเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับมนุษย์ เมื่อมนุษย์ทำสิ่งของเครื่องมือ เครื่องใช้ ปรุงอาหาร หรือรับประทานอาหาร จะมีเศษหรือสิ่งที่ไม่ต้องการเหลือ เช่น เศษไม้ เหลือจากการแกะสลัก ถุงพลาสติกใส่ของที่ซื้อมา กระดาษหนังสือพิมพ์ที่อ่านแล้ว และเศษอาหารเหลือจากการรับประทาน เป็นต้น 

          ขยะมูลฝอยที่กองหมักหมมเป็นสิ่งสกปรก ส่งกลิ่นเน่าเหม็น มีแมลงวันตอม หนู แมลงสาบ มด และเชื้อโรคต่างๆ อาศัยอยู่ในกองขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร และที่เพาะพันธุ์ของมัน การทิ้งขยะมูลฝอยลงบนพื้นถนน หรือลงในแม่น้ำลำคลองนั้น นอกจากจะทำให้บ้านเมืองดูไม่เป็นระเบียบแล้ว ขยะมูลฝอยยังเป็นสิ่งกีดขวางการจราจรอีกด้วย การทิ้งขยะมูลฝอยลงในลำน้ำ จะทำให้ลำน้ำตื้นเขิน และน้ำไหลเวียนไม่สะดวก ขยะมูลฝอยที่มีปริมาณมาก จะทำให้น้ำในลำคลองเน่าเสีย และส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ และสัตว์น้ำ ที่อาศัยในแม่น้ำลำคลองนั้น 

          กองขยะมูลฝอยที่ถูกทิ้งไว้นานๆ จะเน่าเสีย และส่งกลิ่นเหม็น รบกวนผู้ที่อยู่บริเวณข้างเคียง เศษชิ้นส่วนของขยะมูลฝอยบางชนิด มีน้ำหนักเบา จะฟุ้งกระจายไปในอากาศ ส่งกลิ่นเหม็น และฝุ่นที่เกิดจากเศษขยะ ทำให้คุณภาพอากาศเสียไปด้วย

         เมื่อเราเป็นผู้ทำให้เกิดขยะมูลฝอยขึ้นมา เราทุกคนจึงควรช่วยกันรักษาความสะอาด ป้องกันอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ จากขยะมูลฝอย การทิ้งขยะให้ถูกต้อง คือ ทิ้งขยะมูลฝอยในภาชนะ ที่จัดไว้สำหรับทิ้งขยะมูลฝอย แล้วจัดการเผาหรือฝังเสีย ในท้องที่ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทางการเก็บขยะมูลฝอย เราก็ควรใส่ขยะลงในถุงพลาสติก ผูกปากให้แน่น หรือใส่ภาชนะที่แข็งแรง เช่น ถังที่ไม่รั่วซึม มีฝาปิดมิดชิด ไม่ควรใช้เข่ง เพื่อที่พนักงานเก็บขนขยะมูลฝอย จะได้นำไปกำจัดที่สถานที่กำจัดขยะได้สะดวก


การทิ้งขยะบนถนนหรือทางเท้าทำให้บ้านเมืองสกปรก
การทิ้งขยะบนถนนหรือทางเท้าทำให้บ้านเมืองสกปรก

การทิ้งขยะบนถนนหรือทางเท้าทำให้บ้านเมืองสกปรก
ขยะมูลฝอยนอกจากเป็นแหล่งสะสมสิ่งสกปรกแล้วยังทำให้บริเวณเหล่านั้นมีสภาพที่ไม่น่าดูอีกด้วย

การทิ้งขยะมูลฝอยในแหล่งน้ำ ทำให้แหล่งน้ำเน่าเสีย
การทิ้งขยะมูลฝอยในแหล่งน้ำ ทำให้แหล่งน้ำเน่าเสีย  

ความหมายของขยะมูลฝอย



                     ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ กล่าวว่า มูล ฝอย หมายถึง เศษสิ่งของที่ทิ้งแล้ว หยากเยื่อ ขยะ หมายถึง หยากเยื่อ มูลฝอย

          พระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ให้คำจำกัดความ มูล ฝอย หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่เราไม่ต้องการ ที่เป็นของแข็งหรืออ่อน มีความชื้น ได้แก่ เศษกระดาษ เศษผ้า เศษอาหาร ถุงพลาสติก ภาชนะกล่องใส่อาหาร เถ้า มูลสัตว์ หรือซากสัตว์รวมตลอดถึงวัตถุอื่น สิ่งใดที่เก็บกวาดได้จากถนน ตลาด ที่เลี้ยงสัตว์หรือที่อื่น
          
       ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ให้คำจำกัดความของคำว่า ของเสีย หมายความว่า ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย อากาศเสีย มลสารหรือวัตถุอันตรายอื่นใด ซึ่งถูกปล่อยทิ้งหรือมีที่มาจากแหล่งกำเนิดมลพิษ รวมทั้งกากตะกอนหรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้น ที่อยู่ในสภาพของแข็งของเหลวหรือก๊าซในทางวิชาการจะใช้คำว่า ขยะมูลฝอย ซึ่งหมายถึง บรรดาสิ่งของที่ไม่ต้องการใช้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของแข็ง จะเน่าเปื่อยหรือไม่ก็ตาม รวมตลอดถึง เถ้า ซากสัตว์ มูลสัตว์ ฝุ่นละออง และเศษวัตถุที่ทิ้งแล้วจากบ้านเรือน ที่พักอาศัย สถานที่ต่าง ๆ รวมถึงสถานที่สาธารณะ ตลาดและโรงงานอุตสาหกรรม ยกเว้น อุจจาระ และปัสสาวะของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งปฏิกูล วิธีจัดเก็บและกำจัดแตกต่างไปจากวิธีการจัดขยะมูลฝอย ปัจจุบัน วิทยาการก้าวหน้า ประชากรเพิ่มอย่างรวดเร็ว อัตราการใช้ที่ดินเพิ่มขึ้นเพื่อผลิตเครื่องอุปโภค บริโภค อาหาร ที่อยู่อาศัย เป็นเหตุให้เศษสิ่งเหลือใช้มีปริมาณมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาของขยะมูลฝอย
          
             ขยะ หรือ มูลฝอย หรือ ของเสีย เป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และ มีผลต่อสุขภาพอนามัย มูลฝอยหรือของเสียกำลังมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี เพราะสาเหตุจากการเพิ่มของประชากร การขยายตัวทางเศรษฐกิจและทางอุตสาหกรรม นับเป็นปัญหาที่สำคัญของชุมชนซึ่งต้องจัดการและแก้ไข ปริมาณกากของเสียและสารอันตราย ได้แก่ ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ ดิน และอากาศ ตลอดจนบางส่วนตกค้างอยู่ในอาหาร ทำให้ประชาชนทั่วไปเสี่ยงต่ออันตรายจากการเป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง และ โรคผิดปกติทางพันธุกรรม เป็นต้น
          
            สถานที่บางแห่งก็มีคนทิ้งขยะกันตามสะดวก โดยนำไปเทกองรวมกันไว้ริมทางเดินบ้าง โคนต้นไม้บ้าง ทำให้มีการหมักหมมเน่าเปื่อยสิ่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง บางครั้งอาจมองเห็นหนอนจำนวนมากมายไต่ยั้วเยี้ยออกมาจากกองขยะ ดูน่าขยะแขยง นอกจากนั้นกองขยะยังเป็นแหล่งชุมนุมของสัตว์นำโรคสารพัดชนิด เช่น ยุง แมลงวัน หนู แมลงสาบ ฯลฯ ยามที่ฝนตกลงมาน้ำฝนก็ชะเอาสิ่งสกปรกเน่าเหม็นในกองขยะไหลไปยังพื้นที่ใกล้เคียง และอาจจะไหลลงท่อระบายน้ำ และแม่น้ำลำคลองใกล้ ๆ อีกด้วย
          
            การทิ้งขยะลงท่อระบายน้ำทำให้เกิดผลเสียอย่างร้ายแรง คือ ทำให้ท่อระบายน้ำอุดตัน เมื่อฝนตกก็ไม่สามารถระบายน้ำฝนได้ จึงเกิดสภาพน้ำท่วมขังตามถนนสายต่าง ๆ ตามตรอกซอกซอย และผลที่ตามมาก็คือ การเดินทางไปมาตามเส้นทางเหล่านั้นลำบากขึ้น การจราจรก็ติดขัดและถนนหนทางอาจจะได้รับความ เสียหาย ซึ่งเมื่อน้ำลดลงสู่สภาพปกติก็ต้องซ่อมแซมใหม่ ทำให้ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณ
          
            บ้านเรือนที่มีขยะมูลฝอยรกรุงรังอยู่ภายในบ้านเรือนบริเวณบ้าน นอกจากจะดูสกปรกไม่น่าดูอยู่แล้ว ก็ยังเป็นที่ชุมนุมของหนู แมลงวัน แมลงสาบ ซึ่งเป็นพาหะนำโรคทางเดินอาหารมาสู่คน และยังก่อความรำคาญให้อีกด้วย
แหล่งกำเนิดของขยะมูลฝอย




ขยะเป็นสิ่งที่เหลือใช้ หรือสิ่งที่ไม่ต้องการอีกต่อไป สามารถแบ่งตามแหล่งกำเนิดได้ดังนี้

๑. ของเสียจากอุตสาหกรรม ของเสียอันตรายทั่วประเทศไทย ๗๓ %  มาจากระบบอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังไม่มีการจัดการที่เหมาะสมโดยทิ้งกระจายอยู่ตามสิ่งแวดล้อมและทิ้งร่วมกับมูลฝอย รัฐบาลได้ ก่อตั้งศูนย์กำจัดกากอุตสาหกรรมขึ้นแห่งแรกที่แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน เริ่มเปิดบริการตั้งแต่ ๒๕๓๑ ซึ่งก็เพียงสามารถกำจัดของเสียได้บางส่วน
               

๒.ของเสียจากโรงพยาบาลและสถานที่ศึกษาวิจัย ของเสียจากโรงพยาบาลเป็นของเสียอันตรายอย่างยิ่ง เช่น  ขยะติดเชื้อ เศษอวัยวะจากผู้ป่วย และการรักษาพยาบาล รวมทั้งของเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี สารเคมี  ได้ทิ้งสู่สิ่งแวดล้อมโดยปะปนกับมูลฝอยสิ่งปฏิกูลเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโรคและสารอันตราย 

๓. ของเสียจากภาคเกษตรกรรม เช่น ยาฆ่าแมลง ปุ๋ย มูลสัตว์ น้ำทิ้งจากการทำปศุสัตว์ ฯลฯ 

               
๔. ของเสียจากบ้านเรือนแหล่งชุมชน เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ แก้ว เศษอาหาร พลาสติก โลหะ หินไม้ กระเบื้อง  หนัง ยาง ฯลฯ
 

๕. ของเสียจากสถานประกอบการในเมือง เช่น ภัตตาคาร ตลาดสด วัด สถานเริงรมย์
แหล่งชุมชน กิจกรรมอุตสาหกรรม และกิจกรรมเกษตร จัดได้ว่าเป็นแหล่งกำเนิดของขยะมูลฝอยที่สำคัญ เมื่อประชากรเพิ่มขึ้นขยะมูลฝอยก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวประกอบกับมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ก็ยิ่งทำให้มีขยะมูลฝอยใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ขยะมูลฝอยเหล่านี้มีทั้งขยะมูลฝอยทั่วไปและของเสียอันตราย แต่ละประเภทมีลักษณะแตกต่างกัน



แผนผังแหล่งกำเนิดและประเภทขยะมูลฝอย





ประเภทของขยะมูลฝอยที่แบ่งตามลักษณะส่วนประกอบของขยะมูลฝอย





ขยะมูลฝอยอาจแบ่งออกได้ตามลักษณะส่วนประกอบของขยะมูลฝอยได้เป็น ๑๐ ประเภท ได้แก่ 



๑. ผักผลไม้ และเศษอาหาร 

ได้แก่ เศษผัก เศษผลไม้ เศษอาหารที่เหลือจากการปรุงอาหาร และเหลือจากการบริโภค เช่น ข้าวสุก เปลือกผลไม้ เนื้อสัตว์ ฯลฯ

๒. กระดาษ 

ได้แก่ วัสดุ หรือผลิตภัณฑ์ ที่ทำจากเยื่อกระดาษ เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ ใบปลิว ถุงกระดาษ กล่องดาษ ฯลฯ

๓. พลาสติก 

ได้แก่ วัสดุ หรือผลิตภัณฑ์ ที่ทำจากพลาสติก เช่น ถุงพลาสติก ภาชนะพลาสติกของเล่นเด็ก ผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์กลาส ฯลฯ

๔. ผ้า 

ได้แก่ สิ่งทอต่างๆ ที่ทำมาจากเส้นใยธรรมชาติ และใยสังเคราะห์ เช่น ฝ้าย ลินิน ขนสัตว์ ผ้าไนลอน ได้แก่ เศษผ้า ผ้าเช็ดมือ ถุงเท้า ผ้าขี้ริ้ว ฯลฯ

๕. แก้ว 

ได้แก่ วัสดุ หรือผลิตภัณฑ์ ที่ทำจากแก้ว เช่น เศษกระจก ขวด หลอดไฟ เครื่องแก้ว ฯลฯ

๖. ไม้ 

ได้แก่ วัสดุ หรือผลิตภัณฑ์ ที่ทำมาจากไม้ ไม้ไผ่ ฟาง หญ้า เศษไม้ เช่น กล่องไม้ เก้าอี้ โต๊ะ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน ฯลฯ

๗. โลหะ 

ได้แก่ วัสดุ หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำจากโลหะ เช่น กระป๋อง ตะปู ลวด ภาชนะ ที่ทำจากโลหะต่าง ๆ ฯลฯ

๘. หิน กระเบื้อง กระดูก และเปลือกหอย 

ได้แก่ เศษหิน เปลือกหอย เศษกระดูกสัตว์ เช่น ก้างปลา เครื่องปั้นดินเผา เปลือกหอย กุ้ง ปู เครื่องเคลือบ ฯลฯ

๙. ยางและหนัง 

ได้แก่ วัสดุ และผลิตภัณฑ์ ที่ทำจากยางและหนัง เช่น รองเท้า กระเป๋า ลูกบอล ฯลฯ

๑๐. วัสดุอื่นๆ 

ได้แก่ วัสดุไม่สามารถจัดเข้ากลุ่มต่างๆ ข้างต้น

นอกจากนี้เราอาจแบ่งประเภทของขยะมูลฝอยทั้ง ๑๐ ประเภท ออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ

๑. ขยะมูลฝอยที่เผาไหม้ได้ 

ได้แก่ กระดาษ ผ้าหรือสิ่งทอ ผักผลไม้ และเศษอาหาร พลาสติก หญ้าและไม้

๒. ขยะมูลฝอยที่เผาไหม้ไม่ได้ 

ได้แก่ เหล็กหรือโลหะอื่นๆ แก้ว หิน กระเบื้อง เปลือก หอย ฯลฯ




ขยะประเภทต่าง ๆ ที่นำไปขายได้
ขยะประเภทต่างๆ ที่นำไปขายได้

ขยะจำพวกกระดาษและผ้าซึ่งเผาไหม้ได้
ขยะจำพวกกระดาษและผ้าซึ่งเผาไหม้ได้

ประเภทของขยะที่แบ่งตามการทิ้ง

                       
ประเภทของขยะที่ทิ้งกันอยู่ทั่วไปมี   ๔ ประเภท ได้แก่

            ๑.ขยะย่อยสลายได้   เช่น  เศษอาหารและพืชผัก    ที่เหลือจากการรับประทาน    และการประกอบอาหารสามารถนำไปหมักทำปุ๋ยได้   จากปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมดมีประมาณ ๔๖ %

            ๒.ขยะรีไซเคิลหรือขยะที่สามารถนำไปขายได้  เช่น  แก้ว  กระดาษ  พลาสติก  โลหะ/อโลหะ  ซึ่งจากปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด  มีอยู่ประมาณ  ๔๒  %       

            ๓.ขยะทั่วไป  เป็นขยะที่ย่อยสลายยากและไม่คุ้มค่าในการนำไปรีไซเคิล  เช่น  ซองบะหมี่สำเร็จรูป  เปลือกลูกอม  ถุงขนม  ถุงพลาสติก  จากปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด   ประมาณ  ๙ %

            ๔.ขยะพิษ  หรือขยะมีพิษที่ต้องเก็บรวบรวมแล้วนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี  เช่น  กระป๋องยาฆ่าแมลง  หลอดไฟ    ถ่านไฟฉาย  ซึ่งจากปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด  มีอยู่ประมาณ  ๓  %                                      


การเปลี่ยนแปลงขยะ




การเปลี่ยนแปลงขยะ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้

๑. ลักษณะชุมชนหรือที่ตั้ง ของท้องถิ่น ชุมชนการค้า ( ตลาด ศูนย์การค้า ) จะมีปริมาณขยะมูลฝอยมากกว่าชุมชนที่อยู่อาศัย ส่วนบริเวณเกษตรกรรม จะมีปริมาณขยะมูลฝอยอีกรูปแบบหนึ่ง

๒.ความหนาแน่นของประชากรในชุมชน บริเวณที่อยู่อาศัยหนาแน่นปริมาณขยะเก็บมากกว่าบริเวณที่มีประชากรอาศัยอยู่น้อย เช่น บริเวณ แฟลต คอนโดมิเนียม ทาวน์เฮาส์ ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยหลายครอบครัว ปริมาณขยะมีมาก 


๓. ฤดูกาล มีผลต่อการเปลี่ยนปลงของปริมาณขยะเป็นอย่างมาก เช่น ฤดูที่ผลไม้มาก ปริมาณขยะมูลฝอยจำพวกเปลือก เม็ดของผลไม้จะมีมาก เพราะเหลือจากการบริโภคของประชาชน ถ้าผลไม้ยิ่งออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ยิ่งทำให้มีเปลือกและเศษผลไม้ทิ้งมากในปีนั้น 


๔.สภาวะเศรษฐกิจ ชุมชนที่มีฐานะดี ย่อมมีกำลังซื้อสินค้าสูงกว่าชุมชนที่มีฐานะเศรษฐกิจต่ำ จึงมีขยะมูลฝอยมากตามไปด้วย ชุมชนที่มีฐานะเศรษฐกิจดี จะมีขยะมูลฝอยจากบรรจุภัณฑ์ เช่น กล่อง กระป๋อง โฟม ถุงพลาสติก ส่วนพวกฐานะที่ไม่ดีมักเป็นเศษอาหาร เศษผัก 


๕. อุปนิสัยของประชาชนในชุมชน ประชาชนที่มีอุปนิสัยรักษาความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อยจะมีปริมาณขยะมูลฝอยในการเก็บขนมากกว่าประชาชนที่มีอุปนิสัยมักง่ายและไม่เป็นระเบียบ ซึ่งจะทิ้งขยะมูลฝอยกระจัดกระจาย ไม่รวบรวมเป็นที่เป็นทางปริมาณขยะมูลฝอยที่จะเก็บขนจึงน้อยลง แต่ไปมากอยู่ตามลำคลอง ถนนสาธารณะ ถนน ที่สาธารณะ เป็นต้น ตัวแปรอีกตัวหนึ่งคือ พฤติกรรมการบริโภคและค่านิยมของคนแต่ละกลุ่ม มีผลต่อลักษณะของขยะมูลฝอย เช่น กลุ่มวัยรุ่นนิยมอาหารกระป๋อง น้ำขวด อาหารใส่โฟม พลาสติก กล่องกระดาษ 


๖.การจัดการบริการเก็บขยะมูลฝอย องค์ประกอบนี้ก็เป็นผลอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณขยะมูลฝอย ถ้าบริการเก็บขยะมูลฝอยไม่สม่ำเสมอประชาชนก็ไม่กล้านำขยะมูลฝอยออกมา ความไม่สะดวกในการจัดเก็บขยะมูลฝอย เพราะรถขนขยะมูลฝอยไม่สามารถเข้าชุมชนได้ เนื่องจากถนนหรือตรอก ซอยแคบมาก ต้องใช้ภาชนะขนถ่ายอีกทอดหนึ่ง ก็ทำให้ปริมาณขยะมูลฝอยเหลือจากการเก็บอีกมาก 


๗.ความเจริญของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เนื่องจากคนบริโภคอาหารสำเร็จรูปกันมากขึ้นทั้งภาชนะฟุ่มเฟือย ขวด กระป๋อง กล่อง ถุงพลาสติก ฯลฯ กันมาก








ผลกระทบของขยะมูลฝอยต่อสภาวะแวดล้อม




การทิ้งขยะไม่เลือกที่ ทำให้บริเวณนั้นดูไม่สะอาดตา
การทิ้งขยะไม่เลือกที่
ทำให้บริเวณนั้นดูไม่สะอาดตา

ทิ้งขยะมูลฝอยไม่เลือกที่จะเป็นแหล่งอาหารและแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์นำโรคได้
ทิ้งขยะมูลฝอยไม่เลือกที่จะเป็นแหล่งอาหาร
และแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์นำโรคได้ 


น้ำเสียที่เกิดจากการทิ้งขยะหมักหมมไว้นาน ๆ
น้ำเสียที่เกิดจากการทิ้งขยะหมักหมมไว้นานๆ

             ขยะมูลฝอยนั้น นับวันจะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนของประชากร ถ้าหากไม่มีการกำจัดขยะมูลฝอยให้ถูกต้อง และเหมาะสมแล้ว ปัญหาความสกปรกต่างๆ ที่เกิดจากขยะมูลฝอย จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ถ้ามองกันอย่างผิวเผินแล้ว ขยะมูลฝอยนั้นไม่ได้มีผลกระทบต่อมนุษย์มากนัก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงต่อมนุษย์ ยังอยู่ในขั้นที่ไม่รุนแรงมากนัก ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงไม่ชัดเจนเท่าไร แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขยะมูลฝอยจะก่อให้เกิดปัญหาต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก และจะมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ด้วย ทั้งโดยทางตรง และทางอ้อม ทั้งนี้เนื่องจาก

๑.  ขยะมูลฝอย เป็นแหล่งอาหาร และแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงนำโรค เช่น แมลงวัน แมลงสาบ ยุง ฯลฯ และเป็นที่ซุกซ่อนของหนูและสัตว์อื่นๆ

๒.  ขยะมูลฝอย ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น และก่อให้เกิดความรำคาญ

๓. ขยะมูลฝอยที่ทิ้งเกลื่อนกลาด ถูกลมพัดกระจัดกระจายไปตกอยู่ตามพื้น ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นสกปรก ขาดความสวยงาม เป็นที่รังเกียจแก่ผู้พบเห็น และผู้ที่อาศัยบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ขยะมูลฝอยที่ตกอยู่ หรือถูกทิ้งลงในคูคลอง หรือทางระบายน้ำ จะไปสกัดกั้นการไหลของน้ำ ทำให้แหล่งน้ำสกปรก และเกิดการเน่าเสีย

๔. น้ำเสียที่เกิดจากกองขยะมูลฝอยที่กองทิ้งไว้ เป็นน้ำเสียที่มีความสกปรกสูงมาก ซึ่งมีทั้งสารอินทรีย์ สารอนินทรีย์ เชื้อโรค และสารพิษต่างๆ เจือปนอยู่ เมื่อน้ำเสียจากกองขยะมูลฝอย ไหลไปตามพื้นดินบริเวณใด ก็จะทำให้บริเวณนั้น เกิดความสกปรก และความเสื่อมโทรมของพื้นดิน และอาจเปลี่ยนสภาพ ทำให้ดินมีคุณสมบัติเป็นดินด่าง หรือดินกรดได้ ในกรณีที่น้ำเสียจากกองขยะมูลฝอย ไหลลงสู่แหล่งน้ำ ก็จะทำให้คุณภาพน้ำเสียไป ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำผิวดิน หรือแหล่งน้ำใต้ดินก็ตาม ล้วนเป็นอันตรายต่อผู้ใช้น้ำ และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในแหล่งน้ำ น้ำที่สกปรกมาก หรือมีสารพิษเจือปนอยู่ ก็อาจทำให้สัตว์น้ำตายในเวลาอันสั้น นอกจากนั้นสิ่งสกปรกต่างๆ ที่เจือปนในน้ำ ก็จะส่งผลต่อระบบนิเวศของน้ำ ทำให้สัตว์น้ำที่มีค่าบางชนิดสูญพันธุ์ไป นอกจากนี้น้ำที่มีสิ่งสกปรกเจือปน ย่อมไม่เหมาะแก่การอุปโภค บริโภค แม้จะนำไปปรับปรุงคุณภาพแล้วก็ตาม เช่น การทำระบบน้ำประปา ซึ่งก็ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ในกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำมากขึ้น

๕. ขยะมูลฝอย ทำให้เกิดมลพิษแก่อากาศ ขยะมูลฝอยที่กองทิ้งไว้ในเขตชุมชน หรือที่กองทิ้งไว้ในแหล่งกำจัด ซึ่งไม่มีการฝังกลบ หรือขณะที่ทำการเก็บขน โดยพาหนะที่ไม่มีการปกปิดอย่างมิดชิด ขยะมูลฝอยเหล่านั้นส่งกลิ่นเหม็นน่ารังเกียจออกมา เศษชิ้นส่วนของขยะมูลฝอยจะสามารถปลิวไปในอากาศ ทำให้เกิดความสกปรกแก่บรรยากาศ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของมนุษย์ และทำความสกปรกให้กับบริเวณข้างเคียงได้

             นอกจากนี้ขยะมูลฝอยที่กองทิ้งไว้นานๆ จะมีก๊าซที่เกิดจากการหมักขึ้น ได้แก่ ก๊าซชีวภาพ ซึ่งติดไฟ หรือเกิดระเบิดขึ้นได้ และก๊าซไข่เน่า (ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์) ซึ่งมีกลิ่นเหม็



การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย




           ขยะมูลฝอยมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ทำให้เกิดการปนเปื้อนของพื้นดิน แหล่งน้ำ และอากาศ ทำให้บ้านเมืองไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่เป็นที่เจริญตาของผู้ที่ได้พบเห็น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยทั่วไป การแก้ไขปัญหาของขยะมูลฝอย จึงควรปฏิบัติ เพื่อป้องกัน และแก้ไขผลเสีย ที่จะเกิดขึ้น สำหรับการป้องกัน และแก้ไข ที่ดี ควรพิจารณาถึงต้นเหตุ ที่ก่อให้เกิดขยะมูลฝอยขึ้นมา ซึ่งก็คงจะหมายถึง มนุษย์ หรือผู้สร้างขยะมูลฝอยนั้นเอง

             การป้องกัน และการแก้ไขปัญหา ของขยะมูลฝอย เริ่มต้นด้วยการสร้างจิตสำนึกแก่มนุษย์ ให้รู้จักรับผิดชอบในการรักษาความสะอาด ทั้งในบ้านเรือนของตัวเอง และภายนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง สถานที่ทำงาน หรือที่สาธารณะอื่นๆ ให้รู้จักทิ้งขยะมูลฝอยลงในภาชนะให้เป็นที่เป็นทาง ไม่มักง่ายทิ้งขยะเกลื่อนกลาด ทั้งนี้เป็นการช่วยให้พนักงานเก็บขยะนำไปยังสถานที่กำจัดได้สะดวก และรวดเร็วขึ้น





ตารางแสดงขั้นตอนการทำงานของโรงงานกำจัดขยะ
ตารางแสดงขั้นตอนการทำงานของโรงงานกำจัดขยะ






การเก็บและกำจัดขยะมูลฝอย 




            การเก็บและกำจัดขยะมูลฝอย รวมถึงการเก็บรวบรวมขยะมูลฝอย เพื่อส่งไปกำจัดที่สถานกำจัดขยะมูลฝอย มีขั้นตอนดังนี้

            ๑.การเก็บรวบรวมขยะมูลฝอย
 
            การเก็บรวบรวมขยะมูลฝอย คือ การเก็บขยะมูลฝอยใส่ไว้ในภาชนะ เพื่อรอพนักงานเก็บขยะมูลฝอยมาเก็บ ขนไปเทใส่รวบรวมในรถบรรทุกขยะ และการที่พนักงานกวาดถนน เก็บรวบรวมขยะมูลฝอยไว้ให้รถขยะ ขยะมูลฝอยที่รวบรวมจากแหล่งต่างๆ จะถูกนำไปถ่ายใส่ในรถบรรทุกขยะ เพื่อที่จะขนส่งต่อไปยังสถานกำจัดขยะมูลฝอย

            การเก็บรวบรวมขยะที่ถูกต้องภายในบ้าน ควรใช้ภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด น้ำไม่สามารถจะรั่วซึมได้ เช่น ถังเหล็ก หรือถังพลาสติก การใช้ถังเหล็กอาจจะผุกร่อนได้ง่ายกว่าถังพลาสติก ไม่ควรใช้เข่งในการเก็บรวบรวมขยะมูลฝอย

            ๒. การขนส่งขยะมูลฝอย 

            การขนส่งขยะมูลฝอย เป็นการนำขยะมูลฝอยที่เก็บรวบรวมได้จากแหล่งชุมชนต่างๆ ใส่ในรถบรรทุกขยะ เพื่อนำไปยังสถานที่กำจัด ซึ่งอาจเป็นการขนส่งโดยตรง จากแหล่งกำเนิดขยะมูลฝอย ไปยังสถานกำจัดเลยทีเดียว หรืออาจขนขยะมูลฝอยไปพักที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งเรียกว่า สถานีขนถ่ายขยะ ก่อนจะนำไปยังแหล่งกำจัดก็ได้

            ๓. การกำจัดขยะมูลฝอย
 

            วิธีการกำจัดขยะมูลฝอยที่ใช้ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีหลายวิธี เช่น นำไปกองทิ้งบนพื้นดิน นำไปทิ้งลงทะเล หมักทำปุ๋ย เผากลางแจ้ง เผาในเตาเผาขยะ และฝังกลบอย่างถูกหลักวิชาการ เป็นต้น การกำจัดขยะมูลฝอยดังที่กล่าวนั้น บางวิธีก็เป็นการกำจัดที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดสภาวะเป็นพิษต่อสภาพแวดล้อม และมีผลกระทบต่อสุขภาพของคนด้วย

            วิธีการกำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกหลักวิชาการ 

                        ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้

(๑) ไม่ทำให้บริเวณที่กำจัดขยะเป็นแหล่งอาหาร แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์และแมลงนำโรค เช่นแมลงวัน ยุง และแมลงสาบ เป็นต้น
(๒) ไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อนแก่แหล่งน้ำและพื้นดิน
(๓) ไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
(๔) ไม่เป็นสาเหตุแห่งความรำคาญ อันเนื่องมาจาก เสียง กลิ่น ควัน ผงและฝุ่นละออง

วิธีการกองทิ้งบนดิน การนำไปทิ้งทะเล รวมทั้งการเผากลางแจ้งถือว่า เป็นวิธีการกำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้อง เพราะทำให้เกิดปัญหาภาวะมลพิษต่อสภาพแวดล้อม สำหรับวิธีที่ยอมรับทั่วไปว่าเป็นวิธีกำจัดที่ถูกต้อง คือ การเผาในเตาเผา การฝังกลบ และการทำปุ๋ย

              การกำจัดขยะมูลฝอยโดยใช้เตาเผาขยะ 

              การเผาในเตาเผา เป็นการเผาไหม้ทั้งส่วนที่เป็นของแข็ง ของเหลว และก๊าซ ซึ่งต้องใช้ความร้อนระหว่าง ๑,๓๐๐-๑,๘๐๐ องศาฟาเรนไฮต์ จึงจะทำให้การเผาไหม้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากความแตกต่าง และลักษณะขององค์ประกอบของขยะมูลฝอยในแต่ละแห่ง ดังนั้นรูปแบบของเตาเผา จึงแตกต่างกันไปด้วย เป็นต้นว่า ถ้าชุมชนที่มีขยะมูลฝอย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนิดที่เผาไหม้ได้ง่าย เตาเผาขยะอาจใช้ชนิดที่ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นช่วยในการเผาไหม้ แต่ถ้าองค์ประกอบของขยะมูลฝอยมีส่วนที่เผาไหม้ได้ง่ายต่ำกว่าร้อยละ ๓๐ (โดยน้ำหนัก) หรือมีความชื้อมากกว่าร้อยละ ๕๐ เตาเผาที่ใช้ต้องเป็นชนิดที่ต้องมีเชื้อเพลิงช่วยในการเผาไหม้

              นอกจากนี้เตาเผาขยะมูลฝอยทุกแบบ จะต้องมีกระบวนการควบคุมอุณหภูมิ ควัน ไอเสีย ผง และขี้เถ้า ที่อาจปนออกไปกับควัน และปลิวออกมาทางปล่องควัน เตาเผาที่มีประสิทธิภาพ จะต้องลดปริมาณของขยะมูลฝอยลงไปจากเดิมให้มีเหลือน้อยที่สุด และส่วนที่เหลือจากการเผาไหม้นั้น ก็จะต้องมีลักษณะคงรูป ไม่มีการย่อยสลายได้อีกต่อไป และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างปลอดภัย

               ข้อดี 

๑. ใช้พื้นที่ดินน้อย เมื่อเทียบกับวิธีผังกลบ
๒. สามารถทำลายขยะมูลฝอยได้เกือบทุกชนิด
๓. สามารถสร้างเตาเผาในพื้นที่ที่ไม่ห่างไกลจากแหล่งกำเนิดขยะ ทำให้ประหยัดค่าขนส่ง
๔. ไม่ค่อยกระทบกระเทือน เมื่อสภาพแวดล้อมของลมฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลง
๕. ส่วนที่เหลือจากการเผาไหม้ (ขี้เถ้า) สามารถนำไปถมที่ดินได้ หรือทำวัสดุก่อสร้างได้

               ข้อเสีย 

                ค่าลงทุนในการก่อสร้าง และค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม บำรุงรักษาค่อนข้างสูง และอาจจะเกิดปัญหาภาวะมลพิษทางอากาศได้

                การกำจัดขยะมูลฝอยโดยวิธีการฝังกลบ
 

                วิธีการฝังกลบที่ถูกสุขลักษณะนั้น จะต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อสุขภาพแวดล้อม รวมทั้งเหตุรำคาญอื่นๆ เช่น กลิ่นเหม็น ควัน ฝุ่นละออง และการปลิวของกระดาษ พลาสติก และอื่นๆ ซึ่งจะต้องควบคุมให้อยู่ภายในขอบเขตจำกัด ไม่ทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่ทัศนียภาพของพื้นที่ และบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ยังจะต้องมีมาตรการในการควบคุมดูแลดังนี้

๑.ต้องควบคุมไม่ให้มีการนำของเสียอันตรายมากำจัดรวมกับขยะมูลฝอยทั่วไป ในบริเวณที่ฝังกลบขยะ นอกจากจะมีมาตรการการกำจัดโดยวิธีการพิเศษ ตามลักษณะของของเสียนั้นๆ

๒. ต้องควบคุมให้ขยะที่ฝังกลบถูกกำจัดอยู่เฉพาะภายในขอบเขตที่กำหนดไว้ ทั้งบนพื้นผิวดิน และใต้ดิน

๓. ต้องกำจัดน้ำเสียจากกองขยะอย่างถูกต้อง

๔. ต้องตรวจสอบอยางสม่ำเสมอ เช่น ตรวจสอบการปนเปื้อนของแหล่งน้ำใต้ดินบริเวณใกล้เคียง

๕. ต้องคำนึงถึงทัศนียภาพของพื้นที่ และบริเวณใกล้เคียง เช่น การจัดให้มีสิ่งป้องกันการปลิวของขยะ หรืออาจปลูกต้นไม้ล้อมรอบ เป็นต้น

                 การฝังกลบเป็นวิธีการที่ใช้ในการกำจัดขยะมูลฝอยที่พื้นดินอย่างถูกต้อง ตามหลักสุขาภิบาล ไม่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสภาพแวดล้อม ควรเทขยะมูลฝอยลงไป แล้วเกลี่ยให้กระจาย บดทับให้แน่น แล้วใช้ดินหรือวัสดุอื่นที่มีดินปนอยู่ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ กลบ แล้วบดทับให้แน่นอีกครั้งหนึ่ง

                 วิธีการฝังกลบขยะมูลฝอย อาจแบ่งออกได้เป็น ๒ แบบ คือ 

๑. แบบถมที่ 

เป็นการฝังกลบขยะมูลฝอยในพื้นที่ที่เป็นหลุม เป็นบ่อ หรือเป็นพื้นที่ที่ต่ำอยู่ก่อนแล้ว และต้องการถมให้พื้นที่แห่งนั้นสูงขึ้นกว่าระดับเดิม เช่น บริเวณที่ดินที่ถูกขุดออกไปทำประโยชน์อย่างอื่นมาก่อนแล้ว เป็นต้น ในพื้นที่เช่นนี้เราเทขยะมูลฝอยลงไป แล้วเกลี่ยขยะให้กระจาย พร้อมกับบดทับให้แน่น จากนั้นก็ใช้ดินกลบ แล้วจึงบดทับให้แน่นอีกเป็นครั้งสุดท้าย

๒. แบบขุดเป็นร่อง 

เป็นการกำจัดขยะมูลฝอยแบบฝังกลบในพื้นที่ราบ ซึ่งเป็นที่สูงอยู่แล้ว และไม่ต้องการที่จะให้พื้นที่แห่งนั้นสูงเพิ่มขึ้นไปอีก หรือสูงขึ้นไม่มากนัก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการใช้พื้นที่ฝังกลบขยะมูลฝอยให้ได้จำนวนมากๆ ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีขุดเป็นร่องก่อน การขุดร่องต้องให้มีความกว้างประมาณ ๒ เท่า ของขนาดเครื่องจักรที่ใช้ เพื่อความสะดวกต่อการทำงานของเครื่องจักร และมีความยาวตลอดพื้นที่ที่จะฝังกลบ ส่วนความลึกขึ้นอยู่กับระดับน้ำใต้ดิน จะลึกเท่าไรก็ได้ แต่ต้องไม่ให้ถึงระดับน้ำใต้ดิน ส่วนมากจะขุดลึกประมาณ ๒-๓ เมตร และต้องทำให้ลาดเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อไม่ให้น้ำขังในร่องเวลาฝนตก ดินที่ขุดขึ้นมาจากร่อง ก็กองไว้ทางด้านใดด้านหนึ่ง สำหรับใช้เป็นดินกลบต่อไป นอกจากนั้นยังสามารถใช้ทำเป็นคันดิน สำหรับกั้นมิให้ลมพัดขยะออกไปนอกบริเวณได้อีกด้วย ส่วนวิธีการฝังกลบขยะมูลฝอย ก็ทำเช่นเดียวกับแบบถมที่คือ เมื่อเทขยะมูลฝอยลงไปในร่องแล้ว ก็เกลี่ยให้กระจาย บดทับ แล้วใช้ดินกลบ และบดทับอีกครั้งหนึ่ง

การกำจัดขยะมูลฝอยโดยวิธีการฝังกลบแบบขุดเป็นร่อง
การกำจัดขยะมูลฝอยโดยวิธีการฝังกลบแบบขุดเป็นร่อง 

               เมื่อฝังกลบขยะมูลฝอยในพื้นที่นั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว อาจใช้พื้นที่นั้นเป็นประโยชน์ เช่น เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สนามเทนนิส สนามกอล์ฟ ที่จอดรถ สนามกีฬา ศูนย์การค้า หรือก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย ที่ไม่สูงเกินไป หรืออาจปรับปรุงคุณภาพดินให้เหมาะแก่การปลูกพืช ซึ่งอาจจะนำหญ้า ไม้พุ่ม ไม้ยืนต้นมาปลูก เพื่อตกแต่งให้สวยงามเป็นระเบียบยิ่งขึ้น
               การทำปุ๋ย 

              ขยะมูลฝอยส่วนที่เป็นขยะเปียกนั้น ส่วนใหญ่เป็นสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ง่าย ดังนั้นการนำไปกองทิ้งไว้ก็จะบูดเน่า และส่งกลิ่นเหม็น แต่ถ้านำขยะส่วนนี้ไปหมัก ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง กลิ่นเหม็นจะลดลงไปได้อย่างมาก นอกจากนั้นผลิตผลที่ได้ยังสามารถไปใช้เป็นปุ๋ยสำหรับบำรุงดิน เพื่อการเกษตรได้อีกด้วย

               การหมักขยะมูลฝอย เพื่อทำเป็นปุ๋ยนั้น เป็นการอาศัยกระบวนการทางชีววิทยา ซึ่งจุลินทรีย์จะย่อยสลายอินทรียวัตถุให้เป็นแร่ธาตุ ที่ค่อนข้างจะคงรูป และมีคุณประโยชน์ต่อพืช นอกจากนี้ของที่หมักได้ที่แล้ว จะมีปริมาตรลดลงประมาณร้อยละ ๓๐-๖๕ และยังสามารถทำลายจุลินทรีย์บางชนิด ที่อาจทำให้เกิดโรคได้อีกด้วย

การแปรสภาพและการใช้ประโยชน์จากขยะมูลฝอย





การบรรจุปุ๋ยลงในถุงของกทม. ซึ่งได้จากขยะมูลฝอย
การบรรจุปุ๋ยลงในถุงของกทม.
ซึ่งได้จากขยะมูลฝอย


การร่อนปุ๋ยเพื่อแยกขยะออก
การร่อนปุ๋ยเพื่อแยกขยะออก 
สวนจตุจักร เป็นสถานที่พักผ่อนที่ได้จากการนำขยะมูลฝอยไปถมที่ดิน
สวนจตุจักร เป็นสถานที่พักผ่อนที่ได้จากการนำขยะมูลฝอยไปถมที่ดิน

           การนำวัสดุเหลือใช้จากขยะมูลฝอยกลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ จะช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอยที่จะต้องกำจัด ในขณะเดียวกันก็เป็นการสงวนทรัพยากรธรรมชาติไว้ได้อีกส่วนหนึ่ง ด้วยการใช้ประโยชน์จากสิ่งเหลือใช้ อาจใช้วิธีหมุนเวียนวัสดุ หรือแปรสภาพขยะมูลฝอยให้เป็นพลังงาน

           ๑. การแปรสภาพขยะมูลฝอยเป็นพลังงาน

เราอาจแปรสภาพขยะมูลฝอยเป็นพลังงานได้ ดังนี้คือ

           พลังงานความร้อน ได้จากการนำเอาขยะมูลฝอยส่วนที่เผาไหม้ได้ มาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับทำไอน้ำร้อน แล้วส่งไปให้ความอบอุ่นตามอาคารบ้านเรือน เช่นที่ทำอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

          พลังงานไฟฟ้า ได้จากการนำขยะมูลฝอยไปเป็นเชื้อเพลิง สำหรับผลิตไอน้ำ ไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า บริการแก่ประชาชน ตัวอย่างเช่น การแปรสภาพของการใช้ประโยชน์จากขยะมูลฝอยในบางรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีขยะมูลฝอยจำนวนมาก และเป็นชนิดที่เผาไหม้ได้เป็นส่วนมาก

           ๒. การคัดแยกวัสดุเพื่อนำกลับมาใช้


           วัสดุหลายอย่างในขยะมูลฝอยที่อาจนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก เช่น กระดาษ แก้ว ขวด พลาสติก เหล็กและโลหะอื่นๆ การคัดเลือกวัสดุต่างๆ ที่รวมอยู่ในขยะมูลฝอย เพื่อนำกลับไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อีก นับได้ว่า มีการปฏิบัติกันมาช้านาน จะเห็นได้ว่า ตามกองขยะมูลฝอยทุกแห่ง มีบุคคลกลุ่มหนึ่งไปคอยคุ้ยเขี่ยเก็บวัสดุจากกองขยะมูลฝอยตลอดเวลา เพื่อหารายได้

การเก็บวัสดุจากกองขยะมูลฝอยนั้น อาจจะเกิดผลเสีย คือ 


๑. ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ และความปลอดภัยของผู้แยกวัสดุจากกองขยะมูลฝอย ที่อาจเป็นอันตราย เนื่องมาจากความสกปรกของขยะมูลฝอย ซึ่งมีได้ทั้งเชื้อโรค และสารพิษ รวมทั้งของมีคม วัตถุระเบิด และสารกัมมันตรังสี เป็นต้น

๒. ปัญหาจากการที่นำเอาวัสดุที่เก็บมาได้เอามากองรวมๆ กัน เพื่อรอจำหน่ายนั้น ทำให้เกิดกองขยะขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งสกปรกรกรุงรัง เป็นที่อาศัยของสัตว์และแมลงนำโรค เป็นภาพที่น่ารังเกียจ ขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ และบริเวณใกล้เคียง

๓. การนำขยะมูลฝอยไปถมที่ดิน เพื่อปรับปรุงสภาพ ขยะมูลฝอยเกือบทุกชนิดสามารถนำไปใช้สำหรับถมที่ดินที่เป็นหลุมเป็นบ่อ เช่น บ่อดินลูกรังที่น้ำท่วม เหมืองร้าง ฯลฯ ทำให้ที่ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่ราบเรียบ ใช้ประโยชน์ได้มากมายหลายประการ เช่น ทำสนามกีฬา สนามกอล์ฟ สวนสาธารณะ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ แม้กระทั่งสร้างเป็นอาคารที่ทำงาน หรือที่อยู่อาศัย ในต่างประเทศมีการใช้พื้นที่ดินที่เกิดจากการถมด้วยขยะมูลฝอย แบบการฝังกลบ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

            ประเทศไทยก็ได้ใช้ขยะมูลฝอยไปถมที่ทำประโยชน์ เช่น ที่สวนจตุจักร ซึ่งเดิมเป็นที่ลุ่มน้ำท่วม และเต็มไปด้วยพงหญ้ารกมาก และไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่อย่างใด ต่อมาได้มีการนำเอาขยะมูลฝอยจากสถานกำจัดขยะดินแดง มาถมที่บริเวณสวนจตุจักร และปรับปรุงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้


     การถือศีลอดของชาวมุสลิม




          ศีลอด หรือ ศิยาม ในภาษาอาหรับ หมายถึง การอดอาหารและเครื่องดื่ม และการเสพกาม ตั้งแต่ยามรุ่งอรุณ จนกระทั่งถึงเวลาหลังตะวันตกดิน มุสลิมในภาคใต้ของไทยเรียกการถือศีลอดว่า ปอซอ 

ประเภทของการถือศีลอด
การถือศีลอดมีหลายประเภทเช่น
  1. ศีลอดภาคบังคับ ที่ชายหญิงมุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะต้องปฏิบัติในเดือนรอมฎอนทุกปี
  2. ศีลอดภาคสมัครใจ ที่ชายหญิงมุสลิมถือศีลอดในวันอื่น ๆ นอกเดือนรอมะฎอน

          รอมฎอน หรือ รอมะฎอน หรือ เราะมะฏอน คือเดือนที่ 9 ของปฏิทินฮิจญ์เราะฮฺ หรือปฏิทินอิสลาม เป็นเดือนที่ชาวมุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน โดยในปีนี้การถือศีลอดของพี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศจะตรงกับวันที่ 1 สิงหาคม  2554

          โดยเดือนรอมฎอน นับได้ว่าเป็นเดือนที่ยิ่งใหญ่เดือนหนึ่งของอิสลาม ซึ่งอัลกุรอานได้กล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของเดือนรอมฎอนนี้ไว้ว่า เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่อัลกุรอานถูกประทานลงมาในเดือนนี้ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นอยู่ที่เป้าหมายของการประทานต่างหาก ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของการประทานอัลกุรอานนี้ ก็เพื่อให้ใช้คัมภีร์นี้เป็นเครื่องนำทาง และเป็นข้อจำแนกแยกแยะสิ่งถูกสิ่งผิดแก่มนุษยชาติ ให้มนุษย์มุ่งสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ และหากมนุษย์เดินตามหนทางเช่นนี้ ก็จะได้รับความผาสุกทั้งโลกนี้และปรโลก 

          ดังนั้น เดือนรอมฎอน จึงถือเป็นเดือนที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และจูงใจให้ผู้ศรัทธาทำความดีมากยิ่งขึ้นกว่าเดือนอื่น ๆ และการถือศีลอดนี่เองก็เป็นหนทางหนึ่ง ที่จะทำให้ชาวมุสลิมสามารถมุ่งไปสู่จุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์ได้แท้จริง


            โดยการถือศีลอด เป็นหลักปฏิบัติในศาสนบัญญัติ 1 ใน 5 ประการ (ประกอบไปด้วย 1.นับถือพระเจ้า(อัลลอฮฺ)องค์เดียวและนบีมูฮำหมัดเป็นศาสนฑูตคนสุดท้าย 2.ดำรงละหมาด 3.บริจาคทาน 4.ถือศีลอด 5.บำเพ็ญฮัจย์ที่ นครเมกกะ) ซึ่งชาวมุสลิมจะประพฤติปฏิบัติตน โดยการ...

          - งดอาหาร น้ำ เพื่อจะได้รับรู้ความยากลำบากคนที่ยากไร้ โดยจะเริ่มตั้งแต่แสงพระอาทิตย์ขึ้น – แสงพระอาทิตย์เริ่มตกดิน จากการคำนวนดูเวลาแสงพระอาทิตย์ ขึ้น-ตก ตามการคำนวณของหลักดาราศาสตร์อิสลาม วัดตามพิกัดองศาแต่ละพื้นที่ และเมื่อถึงเวลาละศีลอด มักจะรับประทานอินทผลัม โดยได้แบบอย่างมาจากท่านนบีมูฮำมัด ทั้งนี้ ผลอินทผลัมนั้น ประกอบด้วย น้ำตาลฟรุกโตส กลูโคส น้ำ วิตามิน และแร่ธาตุ โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโตส จัดเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกายเป็นอย่างมาก และเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว

          - งด ละ เลิก จากสิ่งที่ไม่ดีทั้งหมด ได้แก่ มือ(ทำร้ายหรือขโมย), เท้า(เดินไปสู่สถานที่ต้องห้าม), ตา (ดูสิ่งลามก), หู ( การฟังสิ่งไร้สาระ ,ฟังเรื่องชาวบ้านนินทากัน), ปาก (การนินทาว่าร้ายคนอื่น โกหกโป้ปด)

          - ทำความดี บริจาคทานแก่คนยากจน

          - อ่านคัมภีร์อัลกุรอาน เนื่องจากในเดือนนี้เป็นเดือนศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าประทานคัมภีร์อัลกรุอานมาให้แก่มนุษย์ ดังนั้น ชาวมุสลิมจึงต้องอ่านอัลกุรอาน เพื่อศึกษาถึงสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้มนุษย์รู้ว่าการเป็นอยู่ในโลกนี้และโลกหน้าจะเป็นอย่างไร และจะต้องทำตัวอย่างไรบ้าง

สำหรับผู้ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถือศีลอด ได้แก่

          1. คนเจ็บป่วย 

          2. หญิงที่มีประจำเดือน

          3. หญิงที่ให้นมบุตร แต่หากมีความสามารถ ก็จะถือได้

          4. หญิงที่ตั้งครรภ์ 

          5. คนแก่ชรา ที่ไม่มีความสามารถเพียงพอ 

          อย่างไรก็ตาม บุคคลเหล่านี้ต้องจ่ายทาน เป็นข้าวสารวันละ 1 มุด (1 มุด ประมาณ 6 ขีด) และสำหรับคนเจ็บป่วย และสตรีที่มีประจำเดือนนั้นให้ถือศีลอดใช้ภายหลังให้ครบก่อนรอมฎอนในปีถัดไป

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ศีลอดเสีย 

หมายถึง ผู้ถือศีลอดคนใดคนหนึ่งได้กระทำในสิ่งดังต่อไปนี้ถือว่า ศีลอดของเขาเสียทันที่ และจะต้องถือศีลอดชดใช้ภายหลังจากเดือนร่อมะฎอนได้ผ่านพ้นไปแล้ว สิ่งที่ทำให้ศีลอดเสียมีดังต่อไปนี้
  1. ตั้งใจกิน ไม่ว่าจะมีปริมาณมากหรือน้อยก็ตาม
  2. ตั้งใจดื่ม ไม่ว่าจะมีปริมาณมากหรือน้อยก็ตาม
  3. ร่วมประเวณี ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
  4. ตั้งใจให้ฝุ่นละออง หรือควัน หรือไอน้ำที่มีจำนวนมากเข้าไปในลำคอ
  5. การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ไม่ว่าชายหรือหญิง
  6. การสวนทวารด้วยของเหลวทุกชนิด
  7. การตั้งใจอาเจียน

           การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ไม่ใช่แค่เรื่องของการงดอาหาร หรือเป็นเพียงแค่การปฏิบัติตามหน้าที่ทางศาสนาของชาวมุสลิมเท่านั้น แต่เพื่อเป็นการขัดเกลาจิตใจของตนเอง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่สำคัญและยิ่งใหญ่ของการเดินทางสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และสูงส่งทางด้านจิตวิญญาณตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของพระองค์ที่ได้ประทานอัลกุรอานมาให้แก่มนุษย์นั่นเอง


วีดีโอที่เกี่ยวข้องกับการถือศีลอดของชาวมุสลิม







Video

PS.Fanpage

Popular Posts

calender

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

Quotes